วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จุดกำเนิดโทรทัศน์ขาวดำ

จุดกำเนิดโทรทัศน์ขาวดำ

โทรทัศน์เปรียบเสมือนเฟอร์นิเจอร์ที่แพร่หลายอยู่ในทุกครัวเรือน ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น สื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อประชาชนในหลายๆด้าน รวมทั้งการตัดสินใจทางด้านการเมือง เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดและเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก คือการถ่ายทอดรายการโต้วาทีหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1960 ระหว่าง Richard M. Nixon และ John F. Kennedy กล่าวกันว่า สาเหตุที่ประธานาธิบดี Kennedy ชนะการเลือกตั้ง มีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนได้เห็นบุคลิกภาพหน้าตาของเขาบนจอโทรทัศน์นั่นเอง
กล่าวกันว่า Paul Nipkow เป็นผู้ผลิตคิดค้นระบบโทรทัศน์ขึ้นในปี ค.ศ. 1884 ประกอบด้วยแผ่นจานที่มีช่องตรงกลาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มตันที่มีวิศวกรนักประดิษฐ์หลายคนถือเอาเป็นแม่แบบในการพัฒนาในเวลาต่อมา เช่น John Logie Baird และ Charles Francis Jenkins ที่ได้สร้างโทรทัศน์ระบบที่ไม่ใช้หลอดภาพหรือ Cathode Ray Tubes: CRTs ขึ้นในปี ค.ศ. 1928

ในยุคนั้น ระบบโทรทัศน์อิเล็กทรอนิกส์ยังล้าหลังระบบเครื่องกลอยู่มาก สาเหตุเนื่องจากโทรทัศน์แบบเครื่องกลเดิมมีราคาถูกมาก และไม่ได้ประกอบด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมาก ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ผลิตในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่โทรทัศน์ระบบเดิมก็ทำงานได้ดีอยู่แล้ว ในที่สุด Vladimir Kosmo Zworykin and Philo T. Farnsworth ก็ได้สร้างประดิษฐกรรมใหม่ขึ้นมา โทรทัศน์ระบบอิเล็กทรอ นิกส์จึง รับความนิยมมากขึ้น

Vladimir Zworykin ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก David Sarnoff ซึ่งเป็นรองประธานของบริษัท RCA ซึ่งมองเห็นช่องทางทำธุรกิจจากผลิตภัณฑ์โทรทัศน์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อมา Philo Farnsworth ก็หาผู้สนับสนุนและลงทุนได้เช่นกัน บุคคลทั้งสองจึงกลับกลายมาเป็นคู่แข่งในความพยายามนำโทรทัศน์อิเล็กทรอนิกส์ออกสู่สาธารณชน ทั้งคู่ต่างก็พยายามหาหนทางที่จะผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ราคาถูก ภายในปี ค.ศ. 1935 ทั้งสองสามารถส่งสัญญาณภาพด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น มีคนจำนวนไม่มากนักที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ และภาพที่ได้รับก็เป็นภาพเบลอร์ๆบนจอขนาด 2 X 3 นิ้ว อนาคตของโทรทัศน์ในขณะนั้นยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่การแข่งขันเพื่อให้ตนเองได้เป็นผู้นำในด้านการผลิตดูจะร้อนแรงขึ้นทุกขณะ
ในปี ค.ศ. 1939 RCA และ Zworykin ได้เตรียมตัวพร้อมในการจัดทำรายการ และเริ่มเปิดตัวโดยถ่ายทอดรายการ World's Fair ใ นรัฐนิวยอร์ค การพัฒนาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1941 คณะกรรมการมาตรฐานโทรทัศน์แห่งชาติ (National Television Standards Committee: NTSC) ตัดสินใจว่าถึงเวลาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรฐานสำหรับการส่งโทรทัศน์ของประเทศ หลังจากนั้นเพียง 5 เดือน สถานีโทรทัศน์ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมดจำนวน 22 แห่ง ก็หันมาใช้มาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ของ NTSC
ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (ร าวๆ ค.ศ. 1930-1931) เครื่องรับโทรทัศน์มีราคาสูงสำหรับประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อราราเครื่องลดลง ประเทศสหรัฐก็ตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก ภายหลังสงครามเป็นยุคที่เศณษฐกิจเริ่มเรืองรอง จึงถือว่าเป็นยุคทองของโทรทัศน์ แต่น่าเสียดายที่ยุคนั้นเป็นเพียงยุคโทรทัศน์ขาวดำ
ที่มา : http://www.pbs.org/opb/crashcourse/tv_grows_up/mechanicaltv.html


ยุคโทรทัศน์สี
อันที่จริงนั้น CBS ได้พัฒนาระบบโทรทัศน์สีบมาเป็นเวลานานก่อน RCA แต่ไม่สามารถทำให้เข้ากับระบบโทรทัศน์ขาวดำที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศในขณะนั้นได้ RCA ได้รับแรงกระตุ้นจากผลงานของ CBS ในที่สุดก็สามารถผลิตระบบโทรทัศน์สีที่สามารถเปิดชมผ่านจอขาวดำได้ หลังจากที่ RCA สาธิตระบบของตนแล้ว คณะกรรมการมาตรฐานโทรทัศน์แห่งชาติ (National Television Standards Committee: NTSC) ก็ได้ยอมรับไว้ในฐานะเป็นการดำเนินการแบบธุรกิจ (Commercial Broadcasting) ในปี ค.ศ. 1953
กว่า 40 ปีต่อมา วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เรามีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ
ดิจิตัล มีการใช้อินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายระดับโลก แต่พัฒนาการด้านโทรทัศน์ดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีระบบเสียงสเตริโอ มีเครื่องรับที่ดีขึ้น มีการเพิ่มคำบรรยายในจอภาพ แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ปรากฏชัด จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตัล
ที่มา: http://www.pbs.org/opb/crashcourse/tv_grows_up/mechanicaltv.html

ยุคโทรทัศน์ดิจิตัล
ข้อแตกต่างระหว่างการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์และการชมรายการโทรทัศน์ที่เห็นได้ชัดก็คือจอโทรทัศน์ไม่สามารถถ่ายทอดภาพได้ครบถ้วนเท่ากับจอภาพยนตร์ สัดส่วนของจอโทรทัศน์ในปัจจุบันถูกพัฒนาโดย W.K.L. Dickson in ใน ค.ศ. 1889 ขณะที่เขากำลังทำงานอยู่ในห้องทดลองของ Thomas Edison
Dickson ทำการทดลองเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า Kinescope และได้สร้างฟิล์มขนาด 1” X 3/4” ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานฟิล์มภาพยนตร์ในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1941 คณะกรรมการมาตรฐานโทรทัศน์แห่งชาติ (National Television Standards Committee: NTSC) ได้เสนอมาตรฐานเพื่อการส่งโทรทัศน์ จึงได้รับเอามาตราส่วนเดียวกับขนาดจอภาพยนตร์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา
ในปี ค.ศ. 1950 Hollywood ต้องการให้สาธารณชนสนใจดูภาพยนตร์กันมากขึ้นแทนที่จะเอาแต่นั่งดูรายการโทรทัศน์อยู่กับบ้าน จึงหากลยุทธ์ต่างๆมาดึงดูดความสนใจของผู้ชม ในที่สุด วิธีการที่ได้ผลตราบเท่าทุกวันนี้ คือการนำเสนอภาพจอกว้าง เช่น Cinerama, Cinemascope, และ Vista vision เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนอยู่ในสถานการณ์จริง เนื่องจากตาของเราให้มุมมองที่กว้างกว่า การชมภาพยนตร์จึงให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการชมโทรทัศน์ กลยุทธ์นี้จึงใช้ได้ผล และก็เป็นการดีที่ HDTV (High Definition Television) ก็นำมาเป็นข้อดีด้วย
HDTV มีคุณสมบัติเสมือนจอภาพยนตร์ ซึ่งจะทำให้ภาพที่นำเสนอออกมามีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นจริง หลังจากที่มีการทดลองกันนานนับทศวรรษ ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า HDTV จะใช้มาตราส่วนของจอภาพเท่ากับจอภาพยนตร์ คือ 16 : 9 อย่างไรก็ตาม เรื่องขนาดของจอภาพนั้นเป็นเพียงประเด็นเดียว นอกจากนั้น HDTV จะให้ภาพที่คมชัดและมีความละเอียดกว่าระบบ NTSC ขนาดของ pixel บนจอ HDTV จะเล็กเป็น 4.5 เท่า ของขนาด pixel บนจอ NTSC ซึ่งหมายถึงความละเอียดของภาพนั่นเอง โทรทัศน์ในระบบ NTSC ทั่วไปสามารถแสดงภาพได้ขนาด 720 X 486 pixels ซึ่งมีความละเอียดน้อยกว่าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งมักมีขนาด 800 X 600 pixels เป็นอย่างน้อย แต่ HDTV สามารถที่จะให้ภาพที่มีความละเอียดได้ถึง 1920 X 1080 pixels หรือมากกว่า 6 เท่าของระบบ NTSC ทีเดียว

Standards Comparison Table
NTSC HDTV (ATSC)
total lines 525 1125
Active lines 486
1080

sound 2 channels (stereo) 5.1 channels (surround)
aspect ratio 4 x 3 16 x 9
max resolution 720 x 486 1920 x 1080

แม้ว่าภาพดิจิตัลจะมีคุณภาพดีกว่าภาพระบบอะนาล็อก แต่HDTV ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิตัลเสมอไป HDTV ของประเทศญี่ปุ่นยังออกอากาศเป็นระบบอะนาล็อก แต่ก็มีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะยอมเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากอะนาล็อกเป็นดิจิตัล

ที่มา: http://www.pbs.org/opb/crashcourse/aspect_ratio
http://www.geocities.com/telethailand/techno_summary.htm


วิวัฒนาการของวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาในประเทศต่างๆ
พ.ต.ท. หญิง ดร. ศิริวรรณ อนันต์โท

ในทวีปยุโรป โทรทัศน์เพื่อการศึกษาเริ่มต้นที่ BBC (British Broadcasting Corporation) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 พอถึงปี 1958 ประเทศอิตาลีก็ริเริ่มบ้างโดยมีการจัดการสอนตรงผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เรียกว่า Telescuola (Television School of the Air) ส่วนประเทศในเครือคอมมิวนิสต์ได้มีโอกาสรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี 1960 นำโดยประเทศยูโกสลาเวีย ตามติดด้วยประเทศโปแลนด์ สำหรับประเทศโซเวียตนั้น ได้เริ่มออกอากาศรายการทั่วไปและรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเมื่อปี 1962 ภายในปี 1965 ประเทศอื่นๆในยุโรปตะวันออกก็ได้ทำการออกอากาศรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาโดยผ่านดาวเทียมกันอย่างแพร่หลาย
ปี 1962 ประเทศจีนคอมมิวนิสต์เริ่มทำการสอนในวิชาต่างๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ในระดับมหาวิทยาลัย โดยผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์เซี่ยงไฮ้ นอกจากนั้นสถานีวิทยุโทรทัศน์อื่นๆ เช่น ในปักกิ่ง เทียนสิน และกวางตุ้ง ต่างก็เผยแพร่รายการมหาวิทยาลัยทางโทรทัศน์ (Television Universities) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในระดับชาติเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชน
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่มีที่มีการบูรณาการการใช้วิทยุโทรทัศน์เข้ากับโครงสร้างของการศึกษา นับตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และยังรวมถึงการให้การศึกษาผู้ใหญ่ในสาขาวิชาต่างๆอย่างกว้างขวางด้วย ก่อนสิ้นปี 1965 ประเทศญี่ปุ่นมีสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาออกอากาศทั่วประเทศเป็นจำนวนถึง 64 สถานี
ประเทศในอเมริกาใต้ เริ่มดำเนินการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษานับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1950 นำโดยประเทศโคลอมเบีย ซึ่งทำการออกอากาศวิชาต่างๆในระดับประถมศึกษาอย่างเต็มรูปแบบระหว่างชั่วโมงเรียนปกติโดยผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ต่อมาประเทศโคลอมเบียได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครเพื่อสันติภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นผลให้ประเทศโคลอมเบียกลายเป็นแบบอย่างของวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาในเวลาต่อมา
แม้ว่าการเติบโตของวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาจะเกิดขึ้นทั่วโลกก็ตาม การพัฒนาที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพียงแค่ช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤษภาคม 1953 ถึง เดือนพฤษภาคม 1967 ประเทศสหรัฐอเมริกามีสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศเป็นจำนวนถึง 140 สถานี ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร 140 ล้านคนในขณะนั้น มีการคาดคะเนว่ารายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสามารถเข้าถึงโรงเรียนได้ไม่ต่ำกว่าสองพันโรงและเข้าถึงนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ได้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคนทีเดียว
นับตั้งแต่ปี 1963 คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ (Federal Communications Commission) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับคำร้อง 64 ราย สำหรับการขอดำเนินการสอนทางวิทยุโทรทัศน์จำนวน 197 ช่องในระบบที่เรียกกันว่า Instructional Television Fixed Service (ITFS) ในที่สุดแล้ว ก็ปรากฏว่ามีการดำเนินการสอนแบบโทรทัศน์วงจรปิดในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และบริษัทต่างๆ อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
วิทยุโทรทัศน์ได้ถูกมองว่าเป็นบริการที่สองรองจากวิทยุกระจายเสียงในการเผยแพร่รายการทางวัฒนธรรม ข่าวสาร และการศึกษา การทดลองครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัย Iowa ในช่วงระหว่างปี 1932 และ 1939 มีการผลิตรายการรายการในวิชาต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ พฤกษศาสตร์ ศิลปะ การละคร และชวเลข เป็นต้น มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา 5 แห่งที่ถูกจัดว่าเป็นผู้บุกเบิกในวงการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของประเทศ ได้แก่ Iowa University (Iowa City), Iowa State University (Ames), Kansas State University, University of Michigan และ American University


เอกสารอ้างอิง
Wilson, P. Dizard. (1966). Television: A World View . New York: Syracuse University Press.
Koening, A, E. & Hill, R, B. (1969). The Farther Vision: Educational Television Today . The University of Wisconsin Press.
















บทบาทของ ของวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ในโลกของสื่อยุคใหม่
พ.ต.ท. หญิง ดร. ศิริวรรณ อนันต์โท


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นจากนักวิชาการในประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการทบทวนบทบาทของโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
ในประเทศอังกฤษนั้น BBC หรือ British Broadcasting Corporation ได้มีบทบาทอันยาวนานในการใช้วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา การส่งวิทยุกระจายเสียงไปยังโรงเรียนได้เริ่มขึ้นในปี 1920 ( พ . ศ . 2463) และเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดแห่งประเทศอังกฤษ (British Open University) ได้เริ่มดำเนินการขึ้นในปี 1969 ( พ . ศ . 2512) BBC จึงได้เข้ามาเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการก่อตั้งระบบการศึกษาทางไกล ปัจจุบันนี้ การออกอากาศรายการเพื่อการศึกษาของ BBC จะกระทำในช่วงที่เรียกว่า “learning zone” หรือช่วงหลังเที่ยงคืน จนกระทั่งรุ่งเช้า และยังมีรายการจำนวนมากที่ถูกผลิตและเผยแพร่ทางวิดีโอเทป ค่าใช้จ่ายในการผลิตและเผยแพร่รายการวิทยุโทรทัศน์ของมหาวิทยาลัยเปิด หรือ OU (Open University) ในประเทศอังกฤษทุกวันนี้ คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของมหาวิทยาลัย คือประมาณ 12 ล้านปอนด์จากงบประมาณประจำปี 120 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ตามการผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์เป็นการลงทุนที่สูงกว่าการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ ดังนั้นการศึกษาทางไกลส่วนใหญ่จาก OU จึงเน้นการใช้ตำรามากกว่า
ความเปลี่ยนแปลงในวงการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาในยุโรป
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการศึกษาทางไกล ในทวีปยุโรป บริษัท EUROSTEP และ EuroPACE ได้เริ่มนำระบบการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมาใช้ส่งสัญญาณโทรทัศน์เพื่อการศึกษา การเผยแพร่ความรู้ไปยังผู้เรียนจึงทำได้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าการให้บริการดาวเทียมของสองบริษัทนี้จะให้ผลในการสร้างสรรค์สติปัญญา แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับผลสำเร็จในทางธุรกิจ เนื่องจากนักคิดหลายคนในยุโรปเห็นว่าการใช้โทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลนั้นเป็นความล้มเหลว โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้ :
โทรทัศน์เพื่อการศึกษาเอาชนะอุปสรรคเรื่องสถานที่ได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคเรื่องเวลา ( หมายถึงผู้เรียนสามารถเรียนได้จากสถานที่ต่างๆ แต่ต้องมีการนัดหมายเวลาที่แน่นอน ) อย่างไรก็ตาม อุปสรรคข้อนี้สามารถขจัดได้โดยการอัดรายการศึกษาไว้ในรูปแบบของวิดีโอเทป และ CD-ROM ซึ่งผู้เรียนจะไม่พลาดโอกาสในการติดตามชมรายการ
โทรทัศน์เพื่อการศึกษามีข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขยาย ช่องทางการออกอากาศ แต่เทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ช่วยแก้ปัญหาได้ ในยุโรปขณะนี้นั้นมีดาวเทียมที่ใช้ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาไม่มากนักจากจำนวนโทรทัศน์กว่า 250 ช่องที่มีอยู่ นอกจากนั้น หลายๆประเทศในยุโรปก็รับข่าวสารทางเคเบิลทีวีกันอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีระบบดิจิตัลมีความสามารถบีบอัดสัญญาณและทำให้มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษในปี 1997 ( พ . ศ . 2540) มีการใช้ระบบดิจิตัลขยายช่องอนาล็อกจำนวน 4 ช่อง เป็น 18 ช่องด้วยระบบดิจิตัล ปัญหาเรื่องการขาดแคลนคลื่นความถี่จึงไม่น่ากังวล
การผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษามีค่าใช้จ่ายสูง แม้จะมีผู้กล่าวว่าการคำนวณ ค่าใช่จ่ายในการผลิตรายการโทรทัศน์น่าจะคิดจากค่าเฉลี่ยของผู้ชม แต่รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาคงยากที่จะได้รับความนิยมจากผู้ชมมากเท่ารายการบันเทิง ดังนั้นค่าผลิตก็ยังนับว่าสูงมากอยู่ดี อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีระบบดิจิตัลเข้ามาช่วยในการผลิต จะทำให้ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้มากขึ้น
โทรทัศน์เพื่อการศึกษามีรูปแบบการนำเสนอที่ตรงไปตรงมาเกินไป และไม่มีลักษณะการโต้ตอบกันได้ทันท่วงที (Interactivity) ระหว่างผู้สอนและผู้ชม จึงทำให้รายการน่าเบื่อ แต่มีผู้เรียนบางคนให้ความเห็นว่า Interactivity หรือปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้ส่งผลดีต่อการเรียนเสมอไป เพราะบางวิชาอาจไม่จำเป็นต้องมีการโต้ตอบกันสดๆ หรือบางครั้งการโต้ตอบกันอาจเป็นการขัดจังหวะการเรียนของผู้เรียนอื่นๆโดยไม่สมควร ดังนั้นจึงควรกำหนดเวลาและสถานที่เฉพาะไว้สำหรับ Interactivity หรือการซักถามโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนให้เหมาะสม นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาของ Sir John Daniel อดีตรองอธิการบดีแห่ง British Open University ที่ยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบ Interactivity นั้น ( อาจเป็นการใช้ โทรศัพท์ โทรสาร หรือ E-mail) จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนผู้เรียน ซึ่งมากกว่าการเรียนทางไกลแบบอิสระ (Independent activity) มาก ดังนั้นผู้บริหารจึงควรคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย
บทสรุป
จากบทความข้างต้นนั้น คงจะเห็นได้ว่าข้อจำกัดในด้านต่างๆของโทรทัศน์เพื่อกาศึกษานั้น สามารถขจัดให้หมดไป หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ นอกจากนั้นยังสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทให้เหมาะสมกับระบบการส่งและเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบใหม่ ตลอดจนระบบการศึกษาใหม่ได้ๆอย่างดีอีกด้วย ดังนั้น เชื่อได้ว่าโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จะยังคงมีอนาคตที่สดใสในระบบการศึกษาทางไกลอย่างแน่นอน
( ที่มา : http://www.shu.ac.uk/virtual_campus/ligis/10/future1.htm)



ประวัติโทรทัศน์เพื่อการศึกษา(ETV)
กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปัจจุบัน) และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และหน่วยงานที่ได้ดำเนินการผลิตพัฒนา และเผยแพร่รายการโทรทัศน์ เพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง คือ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้จัดผลิตรายการส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม อาชีพ ฯลฯ สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป

ในปี พ.ศ.2527
กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจัดตั้งศูนย์ผลิตรายการวิดีโอเทปขึ้น เพื่อให้ผลิตรายการโทรทัศน์ และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งใน และนอกโรงเรียน รวมทั้งให้บริการ ด้านการผลิตรายการ แก่หน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการด้วย

พ.ศ. 2529
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้ประสานงานจัดทำร่างแผนแม่บท โครงการพัฒนาโทรทัศน์ และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์ และวิดีโอเทปที่รังสิต)

พ.ศ.2530
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ จัดและผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทยช่อง 11

พ.ศ.2537
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการทดลองจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อเป็นการขยายโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับมาตรฐานการศึกษา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 โดยให้เป็นโครงการทดลองในระยะ 5 ปี (8 มิถุนายน พ.ศ. 2537 - 7 มิถุนายน 2542) และเริ่มทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2537 โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV)" แพร่ภาพด้วยสัญญาณ ในระบบดิจิตอลในย่านความถี่ Ku-Band และได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน. รับผิดชอบสถานีนี้ และดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น