วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชน ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เหมาะสมที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ และข้อมูลข่าวสารแก่ ประชาชน นักเรียนนักศึกษา ได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการลงทุนต่อรายหัวที่ต่ำ โดยใช้เป็นสื่อที่ช่วยเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน นอกโรงเรียน และให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป สื่อโทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่ช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยช่วยเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษา แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาที่อยู่ในชนบทห่างไกล ช่วยให้ครูและนักเรียนมีโอกาสพัฒนาแนวคิด ให้ทันโลกไร้พรมแดน เนื่องจากปัจจุบันมีความรู้ใหม่ๆ ในด้านต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สื่อโทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่สามารถนำความรู้และข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการนำสื่อสารมวลชนมาใช้ในการจัดการศึกษาให้กับประชาชน ได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อนำสื่อมวลชนมาใช้ประโยชน์สาธารณะ ได้แก่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3
ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในมาตรา 47 กำหนดว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการดำเนินงานต้องคำนึงถึง ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 หมวด 9
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้กำหนดไว้ใน มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยการทะนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น





พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 มาตรา 25
การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่น

อ้างอิง: โครงการวิทยุ/โทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กศน.พ.ศ.2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น